Forestry Innovation Webinar

เรียนรู้อนาคตอุตสาหกรรมป่าไม้ของโลกกับ คุณ Klas Bengtsson และ คุณ Aaron Kaplan ประธานองค์กร Eco-Innovation Foundation (EIF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากกรุงสตอคโฮล์ม สวีเดน ที่มีเป้าหมายสร้างศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดและอุตสาหกรรมไม้ เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟู ปกป้องรักษาผืนดินและทะเลสู่การพัฒนาชุมชน พร้อมกับแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองจากป่าไทยโดยคุณจิตติวัฒน์ สีละพัฒน์ จาก Integrated Wood Industry Development Group งานสัมมนาออนไลน์ด้านป่าไม้ครั้งแรกจัดทำโดยเครือข่าย Thailand Nordic Innovation Unit (TNIU) สถานฑูตไทยประจำกรุงสตอคโฮล์ม สวีเดน

Highlights:

  1. History and current state
  2. New construction technology
  3. Future cities
  4. The wood building forest restoring Industrial system-A climate solution (With co-benefits)
  5. How to achieve a breakthrough
  6. A partnership opportunity
  7. Q&A

History and current state

สวีเดนส่งออกไม้มากเป็นอันดับต้นของโลกรวมมูลค่ากว่า 16.000.000.000 เหรียญสหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ต้นไม้ถือเป็น ‘ทองคำแท่งสีเขียว’ ของสวีเดน แต่ทำไม? แม้ตัดไม้ส่งออกจำนวนมากสวีเดนยังคงสามารถครองพื้นที่สีเขียวปกคลุมไปได้ทั่วแผนที่?

เพราะมีปัญหาถึงได้มีการพัฒนา

ย้อนกลับไปเมื่อห้าร้อย-พันปีที่ผ่านมา สวีเดนไม้ได้เขียวขจีอย่างภาพที่ได้เห็นกันทุกวันนีh ไม้ทั้งผืนถูกตัดเผาวันแล้วเล่า ห่างไกลจากนิยามของคำว่า “การจัดการป่าไม้” ในวันนี้สวีเดนได้ยกระดับเป็นผู้นำโลกด้านป่าไม้ได้อย่างไร?

จุดเริ่มต้น ยุคทองของ ‘เหมืองแร่’

  • ศตวรรษที่ 15 สวีเดนได้ขุดเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองนั้น จำเป็นต้องอาศัย ‘ไม้’ เป็นแหล่งพลังงาน
  • ศตวรรษที่ 16-17 ป่าตอนกลางของสวีเดน…ร่อยหลอ หากไร้ป่า=เงินเข้าประเทศก็จะชะงัก เหล่าธุรกิจเหมืองจำต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศเดินต่อได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่ม “บริหารจัดการป่าไม้” ครั้งแรกของสวีเดน
  • ศตวรรษที่ 19 – ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม้เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ จำเป็นต้องมีการปลูกป่า แต่การปลูกป่าส่วนใหญ่ ณ สมัยนั้น มุ่งไปที่ป่าพื้นเมือง(Native forest) ผืนดินถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ ‘ต้นสน’ แม้จะปลูกจำนวนมากแต่หากปราศจากซึ่งความหลากหลาย ไม่ช้าก็กลายเป็นป่าที่ไร้ชีวาต้นเบิรช์ หรือต้นไม้ชนิดอื่นๆ ถูกหลงลืม สร้างหายนะต่อระบบนิเวศโดยรวม เกิดการประท้วงอย่างหนัก เพื่อเรียกร้องให้บริหารจัดการป่าดียิ่งขึ้น

สวีเดนมุ่งปรับพัฒนาจนผ่านการรับรองตรา FSC (Forest Stewardship Council) จากองค์การจัดการด้านป่าไม้เป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งครอบคลุมทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แม้จะมีระบบจัดการที่ผ่านการรองรับเป็นอย่างดี แต่ทุกวันนี้สวีเดนก็ยังคงเน้นสร้างสมดุลความหลากหลายทางชีวภาพ

กลยุทธ์การบริหารจัดการป่าของสวีเดนแบบระยะยาวใน 80-100 ปี

อ่านต่อ: https://www.forestindustries.se/forest-industry/forest-management/the-cycle-of-forestry/

ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมส่งออกไม้มากเช่นเดียวกัน เรียนรู้อดีต-ปัจจุบันจากสวีเดน โอกาสในการสร้างขุมทรัพย์ทองคำแท่ง ’สีเขียว’ แห่งประเทศไทย


New construction technology

อาคารไม้ ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศฝั่งซีกเหนือ (สวิตเซอแลนด์ แคนาดา อเมริกาเหนือ รวมถึงประเทศแถบนอร์ดิก) เฉกเช่นสวีเดนที่มีอัตราการเพิ่มตัวการก่อสร้างอาคารด้วยไม้จาก 10% ไปยัง 20% ภายใน 18 เดือน และมีการคาดการณ์ว่าอาคารไม้สามารถทดแทนวิถีคอนกรีตเดิมได้ในไม่ช้า เขาสร้างได้อย่างไร? และทำไม ‘ไม้’ ถึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าคอนกรีต?

เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี Cross Laminated Timber (CLT) ถูกพัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด “รวมพลังเป็นหนึ่ง”

แผ่นไม้เล็กๆ หลายแผ่นถูกนำมาผสานกันด้วยกาว จนเกิดเป็นไม้บอร์ดแผ่นใหญ่ที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีนี้ทำให้การสร้างกำแพงไม้สูง การต่อยกอาคารเคลื่อนย้าย หรือการตัดแต่งรูปทรงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ‘ไม้’ ได้เปลี่ยนวิถีใหม่ทั้งระบบก่อสร้างและออกแบบ

ตัวอย่าง : 🌳สร้างอาคารด้วยไม้ท้องถิ่นและผู้ผลิตท้องที่

สถานที่ : Sara Kulturhus อาคารไม้ลัดน่านฟ้าทางตอนเหนือของสวีเดน ณ เมือง Skellefteå ศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรมการแสดง ห้องสมุดและโรงแรม

🌳สร้างอาคารด้วยวัสดุผสมผสานแบบ Hybrid

สถานที่ : Ascent Milwuakee ประเทศสหรัฐอเมริกา ตึกอพาทเม้นท์ฺหรูที่สร้างด้วยไม้และฐานคอนกรีตที่สูงที่สุดในโลก (สถิติปี ค.ศ. 2022) ด้วยความสูงกว่า 86.6 เมตร แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านที่ดีจากคอนกรีตมาสู่การใช้ไม้มากขึ้น

🌳สร้างบ้านทั้งย่านด้วยแผ่นไม้ ผ่านเครือข่ายการร่วมมือ

สถานที่ : Cederhusen, Stockholm

เป็นโครงการใหม่ สร้างที่พักอาศัยทั้งบล็อคด้วยไม้ซีดาร์ ที่นำเข้ามาจากแคนนาดา การสร้างด้วยไม้เปิดโอกาสให้มีการนำเข้า-ส่งออกวัสดุที่สามารถเป็นโอกาสของประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน การก่อสร้างไม่ต้องใช้ซีเมนต์ไม่ต้องรอให้แห้ง และสะอาด

🌳สร้างอาคารไม้เป็นรูปทรงใหม่ที่สวยงามด้วยเทคโนโลยี CNC

สถานที่ : เมือง Zurich and Biel, Switzerland

ไม้เป็นวัสดุที่สามารถออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์และยืดหยุ่นมากกว่าคอนกรีตสถาปนิก Shigeru-Bann ได้นำเทคโนโลยี CNC มาขึ้นรูปในคอมพิวเตอร์ เพื่อตัดเป็นรูปทรงให้มีความโค้ง

🌳สร้างบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาเข้าถึงได้

สถานที่: เมือง Västerås ทางตอนกลางของสวีเดน

โครงการสร้างอพาทเมนท์ไม้เล็กๆ ที่ตลอดกระบวนการสร้าง สามารถลด/ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ (Climate positive) แถมยังตั้งขายในราคาที่สามารถจับต้องได้ อนาคตใหม่ของวิถีการเป็นอยู่

🌳รวมนวัตกรรม Green Showcase จากโครงการ “The Forest” Swedish Pavilion Expo

สถานที่: ศูนย์จัดแสดงสวีเดน ณ Dubai Expo 2020

อาคารไม้ถ่ายทอดหลากหลายเทคนิค / องค์ประกอบ และนวัตกรรม ที่ต้องการไม้ต่างชิดและผู้ผลิตที่ต่างกัน แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจสินค้าบริการและความร่วมมือ


สรุปข้อดีการใช้ไม้ CLT สร้างอาคาร

  • สะดวก: ด้วยวัสดุที่บางเบา ง่ายในการจัดเก็บขนส่งและติดตั้ง
  • รวดเร็ว: เตรียมพร้อมประกอบสำเร็จรูป ไม่ต้องรอให้แห้งแบบคอนกรีต
  • ทรัพยากร: ไม้สามารถปลูกใหม่ได้ไม่หมดไป เมื่อมีการบริหารจัดการดี
  • ราคา: มีการแข่งขันทางการตลาดและสามารถเข้าถึงได้
  • สิ่งแวดล้อม: ใช้พลังงานน้อย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ในช่วง 50 ปีแรก
  • สุขภาพและความสวยงาม: ใกล้ชิดกับธรรมชาติด้วยกลิ่นและสัมผัสของไม้
  • โอกาสร่วมมือทางธุรกิจ: การสร้างอาคารไม้ มีการใช้ไม้หลายชนิดและต่างผู้ผลิตจึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

Future cities

คอนเซปต์การพัฒนา ‘เมืองแห่งอนาคต’ ที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ / การลดใช้เชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิล / เมืองอัจฉริยะ / เมืองเดินได้ใน 15 นาที / เมืองสีเขียว / ป่าในเมือง ฯลฯ ส่วนใหญ่มักเน้นพัฒนาที่ตัวเมืองเป็นหลัก

แต่ในโลกแห่งความจริง เราต่างเชื่อมโยงและต้องพึ่งพากันทั้งระบบ สิ่งที่ขาดคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเมืองใหญ่และชานเมือง (Urban-rural units) ไม่ว่าจะด้านอาหาร ก่อสร้าง น้ำ ฯลฯ เมืองอนาคตที่แท้จริงจึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนทั้งระบบไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น


An industrial system approach

ป่า=โรงงานขนาดใหญ่

แล้วเราจะดูแลโรงงานของเราอย่างไรให้ไปตลอดรอดฝั่ง? โจทย์คือ อยากใช้ไม้เพื่อการได้เปรียบทางการค้า แต่ก็ต้องรักษาป่าไว้บนพื้นฐานของการพัฒนาความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

‘นวัตกรรม’ ต้องเข้าถึงในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การบริหารจัดการพื้นที่ การเลือกใช้ทรัพยากร การผลิต การสร้างอาคาร ไปจนถึงการอนุรักษ์ทรัพยกรป่าไม้

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีผุดขึ้นมากมาย แต่ยังคงต้องพัฒนาระบบในภาพรวม (Green system) เช่น การพัฒนาผู้ผลิตรายย่อยให้มีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมระดับใหญ่ ทำยังไงให้พวกเขาเติบโตในพื้นที่ของตนได้ รวมถึงการจัดการป่าและสร้างอาคารไม้ในสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างด้วยนวัตกรรม แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายแต่โอกาสก็มากมายเช่นเดียวกัน เพราะผู้ผลิตรายย่อยคือกำลังสำคัญ จำเป็นต้องมีเกื้อหนุนให้ทุกภาคส่วนให้พัฒนาหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด การสร้างโรงเลื่อยขนาดใหญ่ทำได้ไม่ยาก…แต่การให้ผู้มีส่วนร่วมขนาดย่อมร่วมมือกันจะทำได้อย่างไร เริ่มต้นจากเล็กๆ ผลิตภัณฑ์จากไม้มีมูลค่าสูงและไม่ว่าจะผู้ผลิตรายย่อยหรือใหญ่คุณภาพที่ออกมาไม่แพ้กัน

ตัวอย่างที่ประเทศแทนซาเนีย แอฟริกา คุณ Klas เคยไปช่วยติดตั้งโรงเลื่อย เริ่มจากเพียง 1 เครื่อง ภายในหนึ่งปีกิจการสามารถขยายเพิ่มกำลังผลิตอีก 8 เครื่อง และสามารถสร้างไม้ได้ 25,000 ลูกบาศก์ต่อปีส่งออกไปยังประเทศดูไบ ลงทุนน้อยกำไรมาก

โอกาสของไทย : มีค่าแรงต่ำกว่าสวีเดน มีศักยภาพสร้างโรงเลื่อยการผลิต มีช่างไม้มากฝีมือ มีพันธุ์ไม้มีค่าที่หลากหลาย มีสภาพอากาศเอื้อต่อการเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่น่าตื่นใจ! ต้นไม้ไทยโตเร็วกว่าสวีเดนถึง 6 เท่า สามารถเป็นคู่แข่งของโลกที่สำคัญได้ในไม่ช้า “เมื่อเริ่มลงมือทำ”


The wood building forest restoring Industrial system-A climate solution (With co-benefits)

การสร้างอาคารด้วยไม้กับความหวังการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ‘จากป่า-สู่เมือง’ กับประโยชน์ครบวงจร

  • ป่า เป็นบ้านให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ ดูดซับคาร์บอน
  • ไม้ สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น สร้างพลังงานถ่านชีวภาพ
  • อาคารไม้ สร้างสภาพแวดล้อมและสุขภาพที่ดีในเมือง

ระบบที่เกื้อหนุนฟื้นฟูระบบนิเวศ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างแหล่งพลังงาน และการพัฒนาเมืองในเวลาเดียวกัน พร้อมแก้ปัญหาภูมิอากาศ (Climate solutions) ตั้งแต่ต้นจนจบ


How to achieve a breakthrough

  1. ชวนการร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ เมือง ชุมชน การลงทุน
  2. สร้างความรู้ เป้าหมาย วิสัยทัศน์ และวางแผนร่วมกัน
  3. สร้างระบบและแผนการจูงใจ
  4. สร้างแรงกระตุ้นระดับประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ทุกภาคส่วน

(การพัฒนาแบบเดิมยึดตามหลักงานวิจัย หากต้องการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ต้องสร้างให้เกิดการร่วมมือทุกภาคี)

ตัวอย่าง เมือง Växjö ประกาศตนว่าเป็นเมืองแห่งไม้สไตล์โมเดิร์นที่แรกของยุโรป ณ ตอนกลาง-ใต้ของสวีเดน

เป้าหมายเพื่อตอบโจทย์กับการลดก๊าซเรือนกระจก ทางภาครัฐมีนโยบายเปิดโอกาสร้างแรงจูงใจสำหรับคนที่มีโปรเจคเกี่ยวกับไม้ หรือการสร้างอาคารไม้ใน Växjö จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ


A partnership opportunity

สวีเดนมีจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยี มีไม้เนื้ออ่อนที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวอย่างต้นสน ส่วนประเทศไทยภูมิภาคเขตร้อน ก็มีต้นไม้เนื้อแข็งที่ทั้งเติบโตได้อย่างเร็วและมีไม้มีค่าหลากหลายอย่างต้นสัก

ปัจจุบัน การพัฒนาก่อสร้างอาคารไม้ของประเทศแถบซีกโลกเหนือเริ่มเปิดกว้างให้กับไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ และมีนวัตกรรมรองรับ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนร่วมมือทั้งทางธุรกิจและองค์ความรู้

Q&A

1.มีประเทศเขตร้อนไหนที่เริ่มสร้างอาคารไม้แล้ว ?

ตอบ: มีจริง ประเทศออสเตรเลียและประเทศทางตอนใต้ของแอฟริกาได้ใช้เทคนิคประสานไม้ CLT กับต้นยูคาลิปตัสเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ มีข้อจำกัดต่างๆ ที่กำลังพยายามรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่าย สู่การเรียนรู้ด้านอาคารไม้เขตร้อน ปัจจัยที่ต้องคำนึงมี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • 1.สภาพอากาศ พายุฝน ความร้อน และความชื้น ซึ่งไม้สามารถทนทานได้หากสร้างอย่างถูกต้อง ที่น่าสนใจคือไม้สามารถยืดหยุ่นต่อสภาพแผ่นดินไหวได้
  • 2.ปลวก: ที่สวีเดนอาจไม่ได้เจอกับปัญหาปลวกเป็นหลัก แต่ในไทยและแอฟริกาพบเป็นอย่างมาก ทางแก้คือสร้างฐานด้วยคอนกรีตก่อน หรือใช้เทคโนโลยีป้องกันปลวกอื่นๆ ในการแก้ปัญหา

2. อาคารไม้อยู่ได้นานเท่าไหร่?

ตอบ: หากเราดูแลก็สามารถอยู่ได้นานอย่างน้อย 400 ปี มีโบสถ์ไม้ในสวีเดนอยู่ได้ถึงพันกว่าปี อาคารควรมีการซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ แต่สิ่งสำคัญคือควรมีหลังคาที่แข็งแรง ปัจจุบันอาคารไม้ในสวีเดนก็สามารถอยู่ได้ถึง 100-200 ปี ในประเทศไทย เช่น จังหวัดแพร่ มีอาคารไม้สักที่อายุราวกว่า 150 ปี หรือที่กรุงเทพฯ อยู่มาแล้วกว่า 200 ปี


3. การทำวนเกษตร (Agroforestry) เชิงผสมผสานควรจะมีพื้นที่เท่าไหร่ ?

ตอบ: การทำวนเกษตร เป็นระบบที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ในส่วนของพื้นที่ คุณ Klas แนะนำว่าขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคล แต่สิ่งสำคัญที่พื้นฐานควรมีคือองค์กรที่ช่วยประสานผู้ผลิตรายย่อย

ตัวอย่าง ที่สวีเดนมีเครือข่ายป่าไม้ (Forest Association) และผู้คอยช่วยประสานงาน เพราะฉะนั้น แม้จะมีผืนดินเล็กๆ ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในระบบได้ คนไทยให้ความสำคัญกับวนเกษตร แต่มีแนวคิดปลูกต้นไม้เพื่อเก็บไว้เพียงอย่างเดียวโดยไม่คิดที่จะตัด การปลูกวนเกษตรสามารถทำได้หลายรูปแบบไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแค่พืชผัก สามารถเลือกปลูกควบคู่กับไม้ทางเศรษฐกิจที่โตไวและมีค่าสูงอย่างไม้สัก ทั้งนี้ควรคำนึงถึงต้นไม้ที่อาจมีปัญหาเรื่องแมลงอย่างมะฮอกกานี


4.ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ไปกับการปลูกไม้สร้างอาคาร…แล้วพื้นที่สำหรับใช้เพื่อการเกษตรผลิตอาหาร หรือแหล่งน้ำจะเพียงพอหรือ?

ตอบ: ให้มองตามภาพกว้างระดับภูมิประเทศ และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของพื้นที่ การปลูกป่าไม่จำเป็นต้องเลือกแต่พื้นที่สำหรับทำการเกษตร ยังมีผืนดินอีกมากมายที่รอการฟื้นฟูเพิ่มสารอาหารให้แก่ดิน ยังมีต้นไม้รอรับการผสมเกสร ซึ่งการปลูกป่าสามารถเข้าไปช่วยได้ และยังสามารถกักเก็บน้ำ หรือชะลอปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯได้หากมีการจัดการป่าที่ดี ที่สำคัญควรศึกษาระบบนิเวศเพื่อสร้างการสมดุลของพืชพันธุ์ เช่น ต้นยูคาลิปตัสใช้น้ำเยอะในการปลูกแต่ระหว่างกระบวนการผลิตกลับใช้น้อยกว่า การเลือกตัดสินใจจึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งสามารถร่วมเรียนรู้จากการร่วมมือกันในเครือข่ายทั่วโลก


5. สวีเดนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ยังตัดไม้ไปใช้ ได้อย่างไร?

ตอบ: สวีเดนมีกฏหมายทกำหนดให้มีการคำนึงถึงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและด้านเศรษฐกิจ ตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล และพัฒนาให้สอดคล้องภาคสังคมในทุกๆปี รับฟังความคิดเห็นและข้อขัดแย้งต่างๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ เชิญชวนให้ประเทศไทยมาดูวิธีการทำป่าชุมชนที่สวีเดน


6.1ไม้ชนิดไหนสามารถลดและกักเก็บการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุด?

6.2เทคโนโลยีไหน ช่วยเร่งการเติบโตของไม้และสร้างความแข็งแรงทนทานได้ดีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?

ตอบ: คำตอบนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันในการวิจัย เพราะที่สวีเดนมีเพียง 2 สปีชีส์

สิ่งที่ต้องคำนึงคือไม้ในราคาที่เข้าถึงและมีคุณภาพ ไม้ที่ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนาสังคม ควรมองว่าต้นไม้ไหนดีที่สุดในสถานการณ์ หรือสถานที่นั้นๆ เป้าหมายหลักคือการเปลี่ยนจากการใช้ซีเมนต์กับเหล็กมาสู่อุตสาหกรรมไม้ เพื่อฟื้นฟูอาหารและฟื้นฟูป่าไม้

วิธีการเริ่มสร้างการร่วมแบบง่ายที่สุด อาจนำเข้าไม้จากสวีเดนและสร้างเป็นศูนย์จัดแสดงให้ผู้คนได้เห็นถึงความเป็นนไปได้ (Visioning) หรืออาจเริ่มมองจากสิ่งที่ไทยมีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น พื้นหรือเพดานไม้ เริ่มจากเทคนิคการก่อสร้างที่ทำอยู่ ส่วนรายละเอียดส่วนอื่นสามารถเพิ่มเติมด้วยวัสดุนำเข้าจากสวีเดน ในอนาคตอาจมีบ้านไม้ไทยในสวีเดน หรือบ้านไม้สวีเดนในไทยแบบผสมผสาน เกิดเป็นนเครือข่ายธุรกิจ และการต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน

TNIU ขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างประเทศภูมิภาคนอร์ดิกและไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพการสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

ดูคลิปฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=VS8F74rRxVA

%d bloggers like this: