เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum technology)


Photo: Niels Bohr Institute

เทคโนโลยีควอนตัมนับเป็นเทคโนโลยีล้ำยุคขั้นสูงที่คาดกันว่าจะเป็น Disruptive Technology ที่จะมาต่อจากยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลและมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายด้าน  

รัฐบาลเดนมาร์กจึงได้กำหนดและผลักดันวาระด้านควอนตัมเทคโนโลยีของประเทศในภาพรวม ภายใต้แนวทางความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการสูงสุดและมุ่งสู่การเป็น Danish Quantum Power House โดยมีองค์ประกอบด้านนโยบายและการดำเนินการ ดังนี้

1. การสร้างจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์ของเดนมาร์ก (Danish Scientific Stronghold) โดยการสร้างระบบนิเวศน์ เครือข่าย แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และภาคอุตสาหกรรมด้านควอนตัมเทคโนโลยีให้เข้มแข็ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลระดับสูง (highly digitized society) 

2. ยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านควอนตัมที่ทะเยอทะยาน (Ambitious Danish Quantum Agenda) โดยกำหนดนโยบายเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการประกาศเมื่อปี 2565 และใช้ประโยชน์อันเกิดจากความร่วมมือแบบไตรภาคีข้างต้น เพื่อให้เดนมาร์กกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีควอนตัมในระดับโลก

3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมกับชีววิทยาศาสตร์ (Quantum for Life Science)  โดยนำองค์ความรู้ทั้งทฤษฎีและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับควอนตัมมาปรับใช้กับการส่งเสริมพัฒนาการและการเติบโตของภาคส่วนชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเดนมาร์กในภาพรวม โดยมุ่งหวังให้เทคโนโลยีควอนตัมสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจในระยะยาว (20 ปี) 

4. การจัดตั้งศูนย์ DIANA Quantum Center DK ซึ่งสถาบัน Niels Bohr Institute ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งศูนย์ DIANA (Defence Innovation Accelerator for the North Atlantic) ภายใต้การสนับสนุนจาก NATO กระทรวงกลาโหมเดนมาร์ก กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก กระทรวงอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการเงินเดนมาร์ก และอวกาศเดนมาร์ก รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของเดนมาร์กได้แก่ Copenhagen University, Aalborg University และ Technical University of Denmark และภาคเอกชน อาทิ Norvo Nordisk Foundation และสภาอุตสาหกรรมของเดนมาร์ก ซึ่งศูนย์ DIANA มีบทบาทสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่
(1) Test and Fabrication Unit เพื่อทำการวิจัย ทดลอง และทดสอบเทคโนโลยีควอนตัม พร้อมกับเปิดให้บริษัทขนาดเล็ก บริษัท Start-up หรือบริษัทที่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี รวมถึงหน่วยงานจากประเทศพันธมิตร NATO สามารถใช้ห้องทดลองและอุปกรณ์ของศูนย์ฯ ได้
(2) Accelerator หรือผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่บริษัทขนาดเล็ก บริษัท Start-up หรือบริษัทที่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เพื่อ “เร่ง” การเติบโตของธุรกิจอย่างมีคุณภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น


Photo: Niels Bohr Institute

ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน Niels Bohr Institute

Niels Bohr Institute เป็นสถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงของเดนมาร์ก ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของ University of Copenhagen โดยมีศาสตราจารย์ Niels Bohr นักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก (ช่วงสมัยเดียวกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2465 ในสาขาฟิสิกส์ เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2464 สถาบันฯ ดำเนินการศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับฟิสิกส์ในสาขาที่หลากหลาย ได้แก่ ควอนตัมฟิสิกส์ ชีวฟิสิกส์ ธรณีฟิสิกส์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ eScience ฟิสิกส์สถานะของแข็ง (Solid State Physics) และฟิสิกส์อนุภาค และเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเดนมาร์กให้ขับเคลื่อนวาระด้านควอนตัมเทคโนโลยีของเดนมาร์กในภาพรวม 

ปัจจุบัน สถาบันฯ มีคณะอาจารย์ เจ้าหน้าที่เทคนิค และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนรวมประมาณ 650 คน รวมทั้งนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาเอกและต่ำกว่าประมาณ 800 คน โดยมีนักศึกษาต่างชาติหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเวียดนาม (ไม่มีประเทศไทย) และสถาบันฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณร้อยละ 25 จากรัฐบาล และร้อยละ 75 จากทุนเอกชน (private funding) ที่จัดสรรให้โดยบริษัทเอกชน หรือมูลนิธิที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ในเดนมาร์ก โดย Norvo Nordisk Foundation เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุบงบประมาณให้แก่สถาบันฯ มากที่สุดแห่งหนึ่ง 

อนึ่ง ในปี 2560 Copenhagen University ได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท Microsoft เพื่อพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องแรกของโลกซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเป็นเงินจำนวนกว่า 100 ล้านโครนเดนมาร์ก และนับเป็นการเปิดโอกาสใหม่สำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวทำให้สถาบันฯ กลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกสำหรับกลศาสตร์ควอนตัม รวมทั้งนับเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยสามารถสร้างมูลค่าร่วมกับภาคธุรกิจทั่วโลกได้อีกด้วย 

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันฯ ได้ที่ https://nbi.ku.dk/english  

ข้อมูลเพิ่มเติม

1. ศูนย์ DIANA Quantum Center DK แม้จะถูกจัดตั้งขึ้นโดยมี NATO เป็นผู้สนับสนุนหลัก แต่กฎหมายท้องถิ่นเดนมาร์กห้ามมิให้สถาบันวิจัยในสถาบันการศึกษาดำเนินการวิจัยใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทหาร การวิจัยจึงต้องเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจเป็นหลัก และภายหลังจากที่เทคโนโลยีดังกล่าวได้เข้าสู่ตลาดแล้ว (เป็นส่วนหนึ่งของสินค้า/บริการที่ถูกจำหน่ายในตลาด) จึงจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการทหารและความมั่นคงผ่านบริษัทเอกชน ตามกลไกตลาดต่อไป

  2. การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม นับเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการต่างประเทศของเดนมาร์ก ซึ่งเดนมาร์กประสงค์ที่จะผลักดันบทบาทนำของเดนมาร์กและแสวงหาความร่วมมือกับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ นโยบายด้านควอนตัมยังมีความเกี่ยวโยงกับประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคยุโรป เนื่องจากสถาบันฯ มีความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจาก NATO ในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม   

3. เดนมาร์กจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Inside Quantum Technology Nordic 2023” (IQT Nordic 2023) ระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นงานที่นำเสนอความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีควอนตัมในภูมิภาคนอร์ดิก ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://iqtevent.com/nordics/ และสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ที่ https://iqtevent.com/nordics/register/ โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียน Early Bird Registration อยู่ที่ประมาณ 699 เหรียญสหรัฐฯ/คน (สถานะล่าสุดวันที่ 22 มีนาคม 2566 คงเหลือเพียงจำนวน 27 สิทธิ์สำหรับราคาดังกล่าว) และหากชำระหน้างานจะมีราคาอยู่ที่ 1,299 เหรียญสหรัฐฯ/คน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าร่วมงานสัมมนาทั้ง 2 วัน รวมอาหารเช้า อาหารกลางวัน และงานเลี้ยงรับรอง และการเข้าชมงานแสดงนิทรรศการภายในงาน ทั้งนี้ หากจะเข้าร่วมเป็นกลุ่มหรือมาจากภาคการศึกษาและภาครัฐ จะได้รับส่วนลด โดยสามารถติดต่อได้ที่ info@3drholdings.com 

ขอบคุณบทความเรียบเรียงโดย : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน 22 มีนาคม 2566

ติดตามข้อมูลข่าวสารการพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน : @Thailand Nordic Countries Innovation Unit

%d bloggers like this: