Vaasa Energy Week สัปดาห์แห่งพลังงานฟินแลนด์

                                                       

การประชุมระดับนานาชาติด้านพลังงานทดแทนและการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการพลังงาน ที่เมือง Vaasa ฟินแลนด์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 7,000 คนจากทั่วโลก  โดยทั่วไปงานดังกล่าวจะจัดขึ้น ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมใน ทุก ๆ ปี มีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจในกระแสโลกยุคปัจจุบัน เช่น Energy & Climate, Wind & Renewable Energy, Gas Energy และ Energy Storage อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมบรรยาย

เมือง Vaasa แหล่งธุรกิจประเทศฟินแลนด์

ฟินแลนด์ นอร์เวย์และสวีเดน ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านห่วงโซ่การผลิตแบตเตอรี่ครบวงจร (battery value chain) ด้วยความพยายามลดการพึ่งพาวัตถุดิบในการผลิตจากต่างประเทศ โดยใช้วัสดุที่หาได้ในฟินแลนด์ (นิเกิล โคบอล ลิเธียม สามารถสกัดได้จากในชั้นหิน (bedrock) ของฟินแลนด์) หรือ ประเทศใกล้เคียง

ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์แบตเตอรี่แห่งชาติ2025 (Finnish National Battery Strategy 2025) โดยมีเป้าหมาย ดังนี้

  1. พัฒนาให้ฟินแลนด์ผลิตแบตเตอรี่และนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ให้มีความยั่งยืน
  2. ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon footprint) และพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด (carbon handprint)
  3. สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศธุรกิจแบตเตอรี่ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ
  4. กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์
  5. สนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่
  6. ขยายตลาดแรงงานตามความต้องการแรงงานของประเทศ

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นต้องมีปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นให้สำเร็จได้โดยเร็ว คือ การลงทุน ทักษะ ความสามารถ การได้เปรียบทางการแข่งขัน การสนับสนุนและกฎระเบียบข้อบังคับของ EU (อาทิ EU Critical Raw Material Act – CRMA และกฎหมายว่าด้วยแบตเตอรี่ฉบับใหม่ของ EU อาศัยหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility – EPR ) และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในวงจรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน (รวมถึงประชาชนผู้อุปโภคทุกคนด้วย)

ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีครบทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Battery Value Chain) ตั้งแต่ การสกัดและแสวงหาวัตถุดิบ (raw material production) กระบวนการและขั้นตอนการผสมสารเคมี (material processing – cathode – anode – electrolyte) ขั้นตอนการจัดเก็บบรรจุ หรือ cell & pack manufacturing downstream application และ การใช้ครั้งที่สองและการนำกลับมาใช้ใหม่ (second life use and recycling) ด้วยเหตุปัจจัยข้างต้นนี้ ฟินแลนด์ สวีเดนและนอร์เวย์จึงร่วมกันริเริ่มโครงการ Nordic Battery Belt เพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมการผลิตและนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่มีเครือข่ายที่ครบวงจรทั้งระบบโดยไม่ต้องพึ่งพาการขนส่งข้ามภูมิภาคอื่น ๆ ไปมา

ตำแหน่งทางเชื่อม Value chain แบตเตอรี่ประเทศนอร์ดิก

ในปี 2565 จีนใช้วัตถุดิบแร่ลิเธียม (สารตั้งต้น/วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่) มากเป็นลำดับที่ 1 และฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ติดลำดับ 1 ใน 10 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 25 นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาทางเลือกอื่นมาพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัย (ลิเธียมเป็นแร่หายากและกำลังจะหมดไป รวมถึงง่ายต่อการติดไฟ / ระเบิดกรณีที่มีการกระแทกหรือความร้อนสูง) ประหยัด ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น  ฟินแลนด์ได้ค้นพบวิธีการทำแบตเตอรี่จากต้นไม้ที่เรียกว่า ‘Lignode’  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่สำหรับรถยนต์ EV ในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของฟินแลนด์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง (ทั้งนี้ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีสัดส่วนป่าไม้ ร้อยละ 75 ของพื้นที่ประเทศ)

แบตเตอรี่จากต้นไม้ “Lignode” จากบริษัท Stora Enso ประเทศฟินแลนด์

ทั้งนี้ บริษัท Freyr (บริษัทสัญชาตินอร์เวย์) มีแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อย่างครบวงจรในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมพิเศษ “the GigaVaasa” ตั้งอยู่ชานเมือง Vaasa โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคนอร์ดิก มีการร่วมลงทุนระหว่าง นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสหรัฐฯ อนึ่ง ในพื้นเขตอุตสาหกรรม GigaVassa ยังมีบริษัทเอกชนจากประเทศเอเชียร่วมลงทุน อาทิ จีน เกาหลีและอินเดีย

ขอบคุณบทความจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

ติดตามข่าวสารนวัตกรรมพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้ที่เพจ Facebook: TNIU

https://www.facebook.com/TNIUThailandNordicInnovation

%d bloggers like this: