สวีเดนเป็นหนึ่งในผู้นำในด้านนวัตกรรมของโลก โดยในปี 2022 มีคะแนน Innovation Index สูงมากเป็นอันดับหนึ่งของยุโรป ผู้เล่นสำคัญในการผลักดันความสำเร็จทางนวัตกรรมนี้คือ “Vinnova” สำนักนวัตกรรมแห่งชาติสวีเดน
ในบทความนี้จะรวมสรุปบทสัมภาษณ์นักวางกลยุทธ์นวัตกรรมชาติสวีเดนจาก Vinnova ติดตามและดูคลิปเต็มได้ที่อ่านด้านล่าง

ผู้ให้สัมภาษณ์
- คุณ Kjell Håkan Närfelt: Chief Strategy officer
- คุณ Ylva Strander: Head of Department, Systems transformation and Policy, Innovation Management

- Highlights

Vinnova คือ?
สำนักนวัตกรรมแห่งชาติของสวีเดน อยู่ภายใต้กระทรวงวิสาหกิจ โดยยึดหลักพัฒนานวัตกรรมแบบเป็นระบบ แทนการพัฒนาแบ่งแยกส่วน ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือ
เร็วๆนี้ จะมีการรวมตัวกัน ระหว่างกระทรวงวิสาหกิจที่ Vinnova อยู่ภายใต้ และกระทรวงสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันเกิดมาเป็นกระทรวงใหม่ คือ “กระทรวงวิสาหกิจและสภาพอากาศ”
โดยเชื่อว่าแนวคิดเบื้องหลังคือเพื่อสร้างให้เกิดการผลักดันนโยบายได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกันเพื่อนำไปสู่ Circular economy เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน น่าจับตามองมากเพราะเมื่อนวัตกรรมกับสิ่งแวดล้อมมารวมตัวกัน จะเกิดอะไรดีๆ ขึ้นบ้าง …

การทำงานของ Vinnova
- ทำอะไรทำจริง มุ่งมั่นลงทุนส่งเสริม ด้วยงบประมาณประจำปีสำหรับโครงการนวัตกรรมสูงกว่า 3.5 พันล้านสวีดิชโครน หรือ กว่า “หมื่นล้านบาท” ต่อปี โดยเงินลงทุนมหาศาลนี้ มีการกระจายทุนให้กับบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็ก-สตาร์ทอัพ ไปจนถึงบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้มีการขยายเพิ่มทุนสนับสนุนไปให้ภาคประชาสังคมเพิ่มมากขึ้น
- เน้นขจัดอุปสรรค สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพ (ทั้งในและนอกองค์กร) โดยไม่ได้เน้นเพียงแค่พัฒนาสินค้าหรือบริการแบบเดียวแต่มองเป็นการพัฒนาแบบระบบภาพกว้าง ผลักดันให้ระบบนิเวศนวัตกรรม ทำงานร่วมกัน
- ส่งเสริมงานวิจัย บนพื้นฐานของความต้องการทั้งจากสังคมและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสามารถใช้ได้จริง โดยที่สวีเดนนักวิจัยมีสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา IP จากงานวิจัยของตัวเองทุกคน
- ทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก ส่งเสริมธุรกิจให้ใช้ตามข้อกำหนด EU ขณะเดียวกันก็เป็นผู้กำหนดนโยบายทางด้านนวัตกรรมให้กับ EU ด้วยเช่นกัน
- มีอิสระในการทำงานเต็มที่ (โดยภาครัฐ หรือรัฐมนตรีไม่สามารถแทรกแซงการทำงาน) ภาครัฐมีบทบาทเพียงแค่กำหนดว่าต้องรายงานอะไรกลับบ้าง วางเป้าหมายประจำปี และ งบประมาณ การมีอิสระมากในการทำงานช่วยให้เกิดความรวดเร็วสอดรับนวัตกรรม
สิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์พื้นฐานที่ยกระดับบริษัทสวีเดนให้แข็งแกร่งขึ้น ด้วยความแข็งแกร่งของระบบนิเวศ เฉกเช่นธรรมชาติที่หากมีระบบนิเวศที่ดี สิ่งมีชีวิตในนั้นก็จะสมบูรณ์มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแล้วช่วยพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Vinnova : https://www.vinnova.se/en/
นอกจากนี้ Vinnova เปิดให้ทุนนวัตกรรมตลอดทั้งปี สำหรับโครงการทั้งในประเทศและนานาชาติ สามารถติดตามได้ที่นี่


เส้นทางการพัฒนาระบบนวัตกรรมสวีเดน
- สมัยยุค 80-90 การกำหนดนโยบายไม่เคยมีการพูดถึงด้านนวัตกรรมอยู่ก่อนเลย การพัฒนาส่วนใหญ่จะเน้นสนับสนุนหน่วยงานแต่ละหน่วยไป การกำหนดนโยบายจึงค่อนข้างกระจัดกระจาย เช่น นโยบายการวิจัย นโยบายอุตสาหกรรม หรือนโยบายการศึกษา แบ่งออกเป็นส่วนๆ
- ปี 2001 (22 ปีที่แล้ว) Vinnova ได้ก่อตั้งขึ้น นับว่าเป็นสำนักนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของโลก ที่สามารถผลักดันให้เกิดนโยบายนวัตกรรมระดับประเทศ ซึ่งตอนแรกก็เน้นด้านการพัฒนางานวิจัยต่างๆ ให้สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้
- ปี 2015 เมื่อมี UN Sustainable Development Goals (UN SDGs) เป้าหมายพัฒนาสู่ความยั่งยืน ก็พลิกโฉมการทำงาน Vinnova สิ้นเชิง โดยสวีเดนเป็นผู้เล่นแรกๆที่เน้นพัฒนาแก้ปัญหาด้านสังคมสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนผู้คนทุกฝ่ายให้หันมาทำงานร่วมกันมากขึ้น
แต่เดิมที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านการเติบโต หรือพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในระดับอุตสาหกรรมทั้งด้านสินค้าบริการ ปัจจุบันเปลี่ยนแนวคิดใช้นวัตกรรมแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดต่างๆในสังคม มาสู่การหาทางออกแบบยั่งยืน ซึ่งต้องมองที่ ‘ตัวระบบ (System Innovation)’ เพราะสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือรูปแบบแพทเทิร์นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางสังคม กระบวนการผลิต ฯลฯ เพื่อให้สามารถจัดการกับความท้าทายระดับสังคม
โดย Vinnova พัฒนามาไกลจนเป็นผู้นำสำนักนวัตกรรมอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะด้านการประเมินนโยบายที่ ‘ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่ซับซ้อน’ ทั้งนี้ก็อยู่ในการประยุกต์ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และการลองผิด-ถูก กล้าปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ในการสนับสนุนนวัตกรรมในแต่ละปี
โดยเฉพาะ ‘นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)’ เช่น ด้านไฟฟ้า เมืองยั่งยืน สุขภาพ สังคมสูงวัย ปัญหาทางจิต โรคอ้วน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยการมองภาพกว้างในการจัดการ
ปัจจุบันบริษัทในสวีเดนไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก เห็นถึงโอกาสมากมายจากการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อสุขภาพสังคมสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มี Impact Startup เพิ่มขึ้นมากมายและการลงทุนในด้านนี้ก็มากขึ้นเช่นกัน สุดท้ายแล้วไม่ใช่เพียงเพราะ Vinnova ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเพียงอย่้างเดียว แต่กลายเป็นบริษัทต่างๆขับเคลื่อนเร็วกว่านโยบาย
(อ่านต่อ) ทำไมสวีเดนถึงเป็น ‘บ้าน’ สำหรับ Impact Startups ?
Impact Framework จะวัดค่าได้อย่างไร
- ความยั่งยืนเชิงลึก
การวัดค่าประเมินผล Impact ไม่ใช่แค่เดินตามเป้า UN SDGs 2030 ที่โฟกัสเท่านั้น แต่สิ่งที่ควรทำคือ การย้อนกลับไปดูว่าเราได้สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ระดับห่วงโซ่คุณค่าองค์กร (Value Chain) แล้วหรือยัง และมีการทำงานอย่างไรบ้าง ผู้บริโภคของเรา โมเดลธุรกิจ กระบวนการการผลิต หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน โดยเราสร้าง National Incubator program ที่ทำงานร่วมกันกับ Incubator และมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อพัฒนา Sustainable readiness ที่ประเมินความยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการพัฒนาธุรกิจ
- มาตรฐานในการวัดผลที่เหมาะสมกับบริบทของบริษัท
ปัจจุบัน EU มีการกำหนดอย่างเคร่งครัดมากขึ้นให้มีการรายงาน ESG Report (Environment Social Governance) ซึ่งบางบริษัททำแต่ Report แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสร้าง Impact อย่างแท้จริง (Green Washing) สิ่งสำคัญคือการต้องมีมาตรฐานในการวัดผล ซึ่งตอนนี้ทาง Vinnova ก็ร่วมกับ ภาคการเงิน เพื่อสร้างแบบประเมินความยั่งยืนให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ การวัดค่าประเมินผลต่างๆ สำหรับสตาร์ทอัพอาจไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวกันแบบบริษัทขนาดใหญ่เนื่องจากสตาร์ทอัพ จึงต้องปรับการวัดที่ตรงกับโฟกัสของแต่ละรูปแบบบริษัท
ความท้าทายที่หลากหลาย
1. การพัฒนาระบบนิเวศความร่วมมือในระดับท้องถิ่น (Coordinated ecosystem development)
ส่งเสริม ช่วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งภายในและภายนอกให้กับองค์กร พัฒนาศักยภาพองค์กร มองเป็นระบบเพื่อสร้าง Paying-it-forward culture ให้พวกเขาสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ความมั่งคั่ง และศักยภาพการแข่งขัน ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนา
2.การสร้างช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับบริษัท Deep Tech เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ในการช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนบนพื้นฐานหลักวิทยาศาสตร์หรือหลักวิศวกรรม แต่ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นอย่างมากในการค้นคว้าวิจัย และต้องพัฒนาอย่างเป็นระบบ
3.การผสานระหว่างเก่า -ใหม่ (Old-new) สร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้ว และบริษัทใหม่ เพราะทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน บริษัทที่ก่อตั้งมาแล้วสามารถได้รับการทดลองใหม่ๆ อย่างรวดเร็วกับบริษัทใหม่ หรือ Startups ขณะเดียวกัน Startups ก็สามารถได้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาหรือขยายเข้าสู่ตลาดในวงกว้างขึ้น
4.การเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อส่งเสริม Game changing Innovation (System Disruption) จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทใหญ่และเล็กที่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบใหญ่ ตัวอย่างบริษัท Oatly บริษัทเครื่องดื่มนมโอ้ต ที่ใช้เวลาต่อสู้มายาวนานกว่าจะได้รับการเป็นที่ยอมรับให้เรียกว่าเป็นน้ำนมชนิดหนึ่ง และได้รับความนิยมที่แข่งขันได้กับนมวัว ต้องการ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ได้ชนะเสมอไป

- บริษัทขนาดใหญ่แท้จริงแล้วอาจไม่ชนะเสมอไป
เพราะอาจเคลื่อนไหวไม่ได้เร็วเท่า เนื่องจาก มีการลงทุนต่อสินค้าเดิมมามากแล้ว การสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่และเล็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ต้องเล็งเห็นผู้เล่นที่ Niche จับการเคลื่อนไหว และให้โอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ
- ไม่สามารถฉายเดี่ยวหากถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมที่แท้จริง ไม่สามารถทำได้แค่เพียงบริษัทเดียวแต่ต้องเปลี่ยนทั้งระบบนิเวศนวัตกรรมและ Business model ทั้งหมดตัวอย่างบริษัท Apple ที่คิดค้น iPhone ก็ต้องอาศัย ผู้พัฒนา Application มาเติมเต็มหรือ Spotify บริษัทเพลงชั้นนำจากสวีเดน ที่ใช้นวัตกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมดนตรี เทคโนโลยี กับการฟังเพลง (สามารถดูได้ใน Netflix ตัวอย่างเรื่องราวของ Spotify เรื่อง The Playlist)

5.การส่งเสริมภาครัฐสร้างนวัตกรรม เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฏข้อบังคับต่างๆได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยผู้ตั้งกฏในภาคส่วนอื่นๆ เช่นนโยบายพลังงานใหม่ ก็ต้องอาศัยทั้งภาคสิ่งแวดล้อม ภาคคมนาคมทำงานร่วมกันซึ่งพวกเขาไม่คุ้นชินที่มองว่าตัวเองเป็นนักนวัตกร สิ่งที่ Vinnova ทำได้คือการทดลองนโยบายหรือข้อกำหนด (policy lab) ว่าเป็นการสนับสนุนหรือฉุดรั้งนวัตกรรมอย่างไร ก่อนเสนอให้มีการบังคับใช้จริง โดยเฉพาะเมื่อมาจากข้อกำหนดของ EU ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบในอนาคต
6.ควรสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างนวัตกรรมมากขึ้น (Innovation Procurement) จ่ายเงินเพื่อนวัตกรรม คือการซื้อในสิ่งที่ยังไม่เคยมีอยู่ แต่เป็น “การซื้ออนาคตที่เราอยากจะเห็น” โดยภาครัฐสามารถซื้อนวัตกรรมเพื่อสร้างความต้องการอุปสงค์ สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ในปัจจุบันการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสวีเดน 90% จะเป็นซื้อจ้าง ส่วน 10% จะเป็นนวัตกรรม ในทางกลับกัน จริงๆแล้วควรปรับเป็น 10% ซื้อจ้าง และ 90% ให้เป็นนวัตกรรม ซึ่งจะทำได้ต้องอาศัยกระบวนการร่วมกันสร้าง เพื่อเปลี่ยนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
7.ความเป็นอิสระมากเกินไปของอุตสาหกรรมสวีเดน จนบางทีก็คิดว่าการที่มีระบบ Top-Down บ้างจะสามารถช่วยสร้างเครือข่ายได้ชัดเจนและง่ายในการสร้างความร่วมมือ
8.ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งสวีเดนกับไทย ไม่ได้มีทรัพยากรมากสำหรับ Green transition เหมือนกับประเทศขนาดใหญ่ เราจึงจำเป็นต้องเท่าทันและดึงดูดความสนใจจากภายนอกประเทศ และไม่พึ่งพาเพียงแต่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนารายย่อยในประเทศ
ทั้งนี้นโยบายสหประชาชาติยุโรป EU มุ่งสร้างสภาวะอากาศให้ดีขึ้น เป็นสัญญาณว่าเงินมหาศาลจะไปสู่การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสการสร้างความร่วมมือด้วยเป้าหมายเดียวกัน
สวีเดนก็มีการเตรียมพร้อมศักยภาพและมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น สร้างบริษัท Impact Startups มากขึ้นจนกลายเป็นเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นผลดีต่อสังคม ดังตัวอย่างด้านล่าง
แนวทางสร้างความร่วมมือสู่นวัตกรรม
- ทำตัวเป็นกาวสร้างความร่วมมือไร้พรมแดน ที่ผสานความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทั้งใน sector เดียวกันหรือข้าม sector ข้าม ecosystem เช่นภาควิชาการควรทำงานร่วมกับผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด แต่เดิมไม่มีใครให้ทุนสำหรับการร่วมมือ ดังนั้น Vinnova เลยต้องสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้สามารถผลักดันโครงการนั้นๆต่อได้ด้วยตัวเอง หรือในภาคเอกชน บริษัทขนาดเล็ก ใหญ่ หรือแม้แต่คู่แข่งก็ต้องร่วมมือกัน แม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย แต่ต้องทำให้เห็นถึงประโยชน์ของการร่วมมือกันมากขึ้น
- รวมพลังเครือข่ายนานาชาติ เพราะปัญหาความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ล้วนเชื่อมโยงกันหมดระดับโลก แต่การจะหาทางออกได้นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกอยู่ตลอดเวลา
- สร้างความไว้วางใจ สร้างสะพานแล้วต้องมี Traffic / หรือผู้ข้ามสะพาน การจะทำให้คนกล้ามาข้ามไปด้วยกันต้องมีความไว้วางใจ ความเชื่อใจ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญหลักของการทำธุรกิจในสวีเดน เปรียบเสมือนทรัพย์สิน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ ซึ่งต้องอาศัยการลงมือทำอะไร ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดจากการทำงานจริง
โอกาสความร่วมมือระหว่างไทย-สวีเดน
- นวัตกรรมด้านอาหาร เพราะไทยโดดเด่นและมีอาหารที่หลากหลาย ผักสมบูรณ์ และที่สวีเดนกำลังให้ความสนใจในประเด็น Food tech เป็นอย่างมาก
- พลังงานสะอาด ที่สามารถทดลองพัฒนาและนำมาใช้ในประเทศตะวันตกเพื่อพยายามเลี่ยงการใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียและความมั่นคงทางพลังงาน
- นวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ที่ทั้งไทยและสวีเดนมีศักยภาพที่โดดเด่นเป็นทุนเดิม
โดยทั้งคุณ Ylva Starder และ คุณ Kjell เชื่อว่าจะมีโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างบริษัทไทย-สวีเดนเป็นแน่ในอนาคตอันใกล้
ขอบคุณ Vinnova คุณ Kjell Håkan Närfelt คุณ Ylva Strander สำหรับข้อมูลดีๆ และผู้อ่านทุกท่าน
ติดตามอ่านข่าวกรุงเทพธุรกิจ: คณะกรรมการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติไทย (NIA) ลงพื้นที่ศึกษากลยุทธ์ปั้นนวัตกรรมสวีเดน และได้มีโอกาสเข้าพบกับ Vinnova เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม
.
ติดตามกดไลค์เพจ Facebook: TNIU Thailand-Nordic Countries Innovation Unit อัพเดทข่าวสารด้านการพัฒนานวัตกรรม ไทย-นอร์ดิกสู่ความยั่งยืน